เคยเป็นไหม รู้สึกแสบร้อนบริเวณกลางอก แน่นจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ เรอเปรี้ยว หรือมีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย ถ้าใครพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ นั่นอาจหมายความว่าเรากำลังเผชิญกับโรคกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยหลังจากรับประทานอาหาร และสามารถหายเองได้โดยไม่เป็นอันตรายใดๆ อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้อาจสร้างความกังวลใจและทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายตัว อีกทั้งหากมีอาการกรดไหลย้อนเรื้อรัง เป็นบ่อยหรือต่อเนื่อง อย่าชะล่าใจ เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา
สาเหตุของกรดไหลย้อนคืออะไร ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการอย่างไร แล้วเราสามารถรักษากรดไหลย้อนด้วยวิธีไหนได้บ้าง Zenbio จะพามาหาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้
โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) คือ ภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาสู่หลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากการที่หูรูดของหลอดอาหารไม่สามารถบีบตัวให้ปิดได้ทันหรือปิดไม่สนิท ส่งผลให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาในที่สุด[1]
โดยธรรมชาติ ร่างกายจะมีการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารอยู่บ้าง หลังรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย อย่างไรก็ตาม โรคกรดไหลย้อนเป็นอาการที่มีปริมาณกรดที่ไหลย้อนมากขึ้นหรือย้อนบ่อยกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรค
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
กรดในกระเพาะสามารถไหลย้อนขึ้นได้จากการที่กล้ามเนื้อปลายของหลอดอาหาร (Lower Esophageal Sphincter)[2] คลายตัวบ่อยหรือคลายตัวนานเกินไป ส่งผลให้กรดไหลย้อนขึ้นมาผ่านช่องหลอดอาหารที่ปิดไม่สนิท ซึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการนี้มีหลายประการ ได้แก่
- พฤติกรรมการรับประทานอาหาร – การทานอาหารในปริมาณมากเกินไปต่อหนึ่งมื้อ ทานเร็วเกินไปหรือเคี้ยวไม่ละเอียด ไปจนถึงการเอนตัวนอนราบ การเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ
- ประเภทอาหาร – อาหารที่มีปริมาณไขมันสูง อาหารรสเผ็ดจัด ช็อกโกแลต หรือเครื่องดื่มอัดลม
- แอลกอฮอล์และบุหรี่ – เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่จัด
- ความวิตกกังวล – ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียด สามารถส่งผลต่อการทำงานที่ผิดปกติของร่างกาย เช่น หลอดอาหารมีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น (Esophageal Hypersensitivity)[22] หลอดอาหารจึงอ่อนไหวต่อกรดเมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คนกลุ่มนี้ก็จะมีอาการแสดงให้เห็นทันที
- ยาบางประเภท – การทานยาบางชนิดสามารถส่งผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน อย่างยาปฏิชีวนะ หรือยาบรรเทาปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), Naproxen (นาพรอกเซน) และผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็กบางชนิด[3]
- โรคอ้วน – ไขมันสะสมส่งผลให้แรงกดต่อกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหาร
- การตั้งครรภ์ – ขณะตั้งครรภ์ ฮอร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลงจนส่งผลให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลง ประกอบกับมดลูกที่ขยายตัวเพื่อรองรับทารก แรงกดต่อกระเพาะอาหารจึงสูงขึ้น จึงเกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายกว่าปกติ[4]
อาการและผลกระทบของโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนนั้นมีอาการหลากหลายรูปแบบ ทั้งอาการที่แสดงออกชัดเจนและอาการซ่อนเร้น ทำให้หลายคนสับสนกับอาการของโรคอาหารไม่ย่อย ซึ่งอาจมีอาการคล้ายกันหรือเกิดร่วมกับกรดไหลย้อน โดยอาการที่เห็นได้ชัดเจนของโรคกรดไหลย้อน คือ
- รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก และมักเป็นบ่อย ๆ หลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่
- เรอเป็นกลิ่นเปรี้ยว มีของเหลวรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
- ท้องอืด แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย ทำให้ไม่สบายตัว
- รู้สึกเจ็บหน้าอก มีอาการจุกเสียด
นอกจากอาการข้างต้น โรคกรดไหลย้อนอาจก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ ได้อีกด้วย อาทิ
- ไอแห้งๆ พูดหรือเปล่งเสียงลำบาก ทำให้เสียงแหบ และมีอาการหืดหอบโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีกลิ่นปาก
- อาการเจ็บคอเรื้อรัง
- กลืนอาหารติดขัด เหมือนมีก้อนอาหารติดอยู่ในลำคอ[5]
หากปล่อยไว้นาน กรดไหลย้อนสามารถก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง ?
โดยทั่วไป โรคกรดไหลย้อนนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงใดๆ ต่อสุขภาพร่างกาย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษาเป็นระยะเวลานาน ก็สามารถก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ อาทิ
หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis)
เกิดจากอาการการอักเสบหรือระคายเคืองของเยื่อบุภายในหลอดอาหาร มีสาเหตุหลักๆ มาจากกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ ยาบางชนิด หรือการติดเชื้อจากไวรัส หรือแบคทีเรีย ซึ่งผู้ป่วยมักเจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร กลืนอาหารลำบาก หรืออาจมีอาการรุนแรงจนทำให้ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีไข้ร่วมด้วย หากผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาหรือไปพบแพทย์ อาจส่งผลให้หลอดอาหารเป็นแผลหรือหลอดอาหารตีบตามมาได้[6]
การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุผิวหลอดอาหาร (Barrett’s Esophagus)
ภาวะผิดปกติของร่างกายที่เยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนแปลงจนคล้ายกับเยื่อบุของลำไส้เล็ก โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากกรดไหลย้อนเรื้อรังนานหลายปี หรือพบได้ในผู้ที่เป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุน้อย ในบางกรณี ผู้ที่ป่วยเป็นภาวะนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีโอกาสพบได้น้อยมาก โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์เอาไว้ว่ามีประชากรเพียง 1% เท่านั้นที่เป็นโรคนี้[7][8]
หลอดอาหารหดเกร็ง (Esophageal Spasm)
เกิดจากกล้ามเนื้อในหลอดอาหารบีบเกร็งไม่คลายตัว ส่งผลให้หลอดอาหารตีบ ผู้ป่วยจึงต้องใช้เวลาและความพยายามมากขึ้นในการกลืนอาหาร ซึ่งอาจเป็นภาวะที่เป็นๆ หายๆ หรือเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ในบางกรณีอาจมีความรู้สึกแน่นหน้าอกร่วมด้วย[9]
มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer)
เป็นโรคร้ายที่พัฒนามาจากปัจจัยเสี่ยงอย่าง ภาวะกรดไหลย้อน ภาวะน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ผู้ป่วยโรคนี้ มักมีอาการเจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก จนถึงไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ อาเจียนหรือไอเป็นเลือด มีเสียงแหบ จนถึงขั้นไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ ต้องบ้วนทิ้ง ทำให้รับประทานอาหารไม่ได้ เกิดภาวะน้ำหนักลด อีกทั้งในผู้ป่วยบางราย มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ โดยจากสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารมากถึง 3,400 คนต่อปี ถือว่าเป็นโรคร้ายแรงที่ตามมาจากการปล่อยให้เป็นโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง[10]
โรคที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนอันตรายทั้งสิ้น ดังนั้นทางที่ดีเราควรป้องกัน หรือรักษาโรคกรดไหลย้อนให้เร็วที่สุด ไม่ควรละเลย เพราะคิดว่าเป็นเพียงแค่พักก็หายได้
แนะนำวิธีรักษาและบรรเทาอาการกรดไหลย้อน
หากคุณมีความกังวลเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน สามารถบรรเทาและรักษาอาการให้หายกลับมาเป็นปกติได้ด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างเพื่อปรับสมดุลทางเดินอาหาร ดังนี้
1. ปรับพฤติกรรมการทานอาหารและการใช้ชีวิต
การปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการรักษากรดไหลย้อน สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการรับประทานอาหารในปริมาณที่พอดีต่อครั้ง โดยเฉพาะมื้อเย็น ที่ไม่ควรรับประทานจนรู้สึกจุกจนเกินไป ที่สำคัญคือไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร รออย่างน้อย 3 ชั่วโมงเพื่อให้อาหารได้ย่อย หรือหากนอนควรนอนหนุนหมอนสูง นอกจากนี้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด รวมไปถึงอาหารไขมันสูง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ความเครียดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถก่อให้เกิดกรดไหลย้อน[11] ดังนั้นแนะนำให้พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียดสะสม หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น การนั่งสมาธิ การสวดมนต์ การเดินเล่น ฯลฯ ประกอบกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญ[12] ลดโอกาสเกิดอาการกรดไหลย้อน ในส่วนของคนอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน การออกกำลังกลายเป็นการควบคุมน้ำหนักตัวให้ลดลง ทำให้ความดันในกระเพาะอาหารลดลงด้วย อาการกรดไหลย้อนก็จะลดลงตามไปในที่สุด
2. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
บ่อยครั้งที่อาหารไม่ย่อย อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคกรดไหลย้อน[13] ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากลำไส้แปรปรวน หรือทางเดินอาหารขาดสมดุล ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อกระเพาะและลำไส้ มีไขมันต่ำ ไฟเบอร์สูง เช่น
- ขิง – มีฤทธิ์ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยลดอาการจุกเสียดและแน่นท้อง ลดกรดเกิน และแก๊สในกระเพาะได้ดี[14]
- สะระแหน่ – ช่วยลดการหดเกร็งของกระเพาะอาหาร ขับลมในลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร[15]
- ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท – มีปริมาณไฟเบอร์และกากใยสูง ช่วยในการย่อยอาหาร ไม่เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยระบบขับถ่ายให้ดีขึ้น มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานยาวนาน ไม่หิวบ่อย[16] อีกทั้งข้าวโอ๊ตยังอุดมไปด้วย อาวีนันทราไมต์ (Avenanthramides) สารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย[17]
- เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว น้ำเต้าหู้ – เป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงและมีปริมาณไขมันต่ำ อีกทั้งย่อยง่าย ไม่เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร ลดโอกาสเกิดกรดไหลย้อน
- อาหารที่มีโพรไบโอติกปรับสมดุลลำไส้ – อาหารที่มีโพรไบโอติกจะช่วยปรับสมดุลทางเดินอาหาร และช่วยในการย่อยอาหาร โดยเพิ่มแบคทีเรียดีในร่างกาย พร้อมรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย เช่น โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ ชาหมัก แตงกวาดอง ฯลฯ[18] ซึ่งเป็นแหล่งโพรไบโอติกจากอาหารทั่วไป หรือ จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกสายพันธุ์เฉพาะ เพื่อช่วยแก้ปัญหากรดไหลย้อน ซึ่ง 1 ในสายพันธุ์โพรไบโอติกที่มีงานวิจัยรับรองทดสอบจริงว่าได้ผล คือ บิฟิโดแบคทีเรียม แล็กทิส เอชเอ็น019 (Bifidobacterium Lactis HN019) สามารถช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน ปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร
3. ปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม
บางคนอาจมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ลองรักษาด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอาหารที่รับประทานแล้ว
โดยหากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ผล แพทย์อาจสั่งยา เช่น ยาลดการหลั่งกรด (Antacids) ยาที่ทำให้หยุดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร หรือยาที่เพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ช่วยทำให้หูรูดกระเพาะอาหารปิดได้สนิทขึ้น[19] อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดยาและระยะเวลาในการรักษาอย่างใกล้ชิด จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์[20]
แต่ในกรณีที่มีอาการเรื้อรังหรือรุนแรง เป็นผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานาน แต่อาการไม่ดีขึ้นหรือมีผลข้างเคียงจากยา รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรค แพทย์อาจวินิจฉัยให้เข้ารับการผ่าตัดเย็บหูรูดหลอดอาหาร[21]
จบไปแล้วกับเรื่องต่างๆ ของโรคกรดไหลย้อน ใครที่มีความกังวลว่าตนเองจะเป็นโรคนี้หรืออาจเป็นอยู่ ต้องไม่ลืมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ออกกำลังสม่ำเสมอ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โพรไบโอติกปรับสมดุล และหากมีอาการเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนมากวนใจ และไม่ก่อเกิดโรคอื่นๆ ตามมา
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติก ที่มีสายพันธุ์เฉพาะ บิฟิโดแบคทีเรียม แล็กทิส เอชเอ็น019 (Bifidobacterium Lactis HN019) ได้ที่ลิงค์นี้
www.zenbiohealth.com/th/pro-bl8-th-โพรไบโอติก
อ้างอิง
[1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22]