รายละเอียดบทความ

ทำความรู้จักกับโพรไบโอติก “แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส”สายพันธุ์ NCFM

สิงหาคม 24, 2023

แชร์ไปยังโซเชียลมีเดีย:

แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส NCFM

บทความโดย ผศ.ดร.ภญ. ภัณฑิรา ปริญญารักษ์

ทำความรู้จักกับ โพรไบโอติก

โพรไบโอติก เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเมื่อได้รับในปริมาณที่เหมาะสมจะมีประโยชน์ในการรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ จุลินทรีย์โพรไบโอติก ที่นิยมใช้มักเป็นแบคทีเรียโดยเฉพาะสายพันธุ์ Lactobacillus และ Bifidobacterium ซึ่งเป็นสองสายพันธุ์ที่นิยมใช้ นอกจากนี้แบคทีเรียสายพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงเชื้อราหรือยีสต์บางชนิดก็ถูกจัดเป็นโพรไบโอติกด้วย โพรไบโอติกมีการใช้มาอย่างยาวนานในอาหารแบบดั้งเดิมและอาหารหมัก เช่น ชีส โยเกิร์ต กิมจิ น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล ปลาร้า เต้าเจี้ยว อาหารที่ผ่านกระบวนการหมักนมและการถนอมอาหารต่าง ๆ และยังพบว่าการใช้โพรไบโอติกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม และโภชนเภสัช1-3

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ โพรไบโอติก

โพรไบโอติกมีบทบาทต่อร่างกายหลากหลายส่วนทั้งการปรับเปลี่ยนการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ดี และยับยั้งการเติบโตของเชื้อก่อโรคในร่างกาย ประโยชน์ของโพรไบโอติกจึงพบได้ทั่วร่างกาย แม้ว่าข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกหลายชนิดยังมีอยู่จำกัด แต่ก็พบว่ามีโพรไบโอติกบางสายพันธุ์ที่ปรากฎข้อมูลทางคลินิกทั้งการศึกษาในระดับหลอดทดลองและระดับห้องปฏิบัติการที่เชื่อถือได้มาสนับสนุนประสิทธิภาพในการใช้ 1-3

พบข้อสันนิษฐานที่ระบุว่าโพรไบโอติกมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงระบบย่อยอาหาร ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย มะเร็งกระเพาะอาหาร การติดเชื้อในลำไส้ ป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อ เช่น โรคท้องเสียเฉียบพลัน ท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotic-associated diarrhea) ท้องเสียในนักท่องเที่ยว (traveler’s diarrhea) ป้องกันโรคลำไส้อักเสบ ลดความรุนแรงของภาวะลำไส้แปรปรวน และลดปริมาณคอเสสเตอรอล โพรไบโอติกบางชนิดช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะช่วงที่เป็นภูมิแพ้ รวมถึงสามารถป้องกันฟันผุ ป้องโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ โพรไบโอติกถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการลดความรุนแรงและความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พยายามทำการศึกษาเพื่อหาข้อมูลมาสนับสนุนการใช้ประโยชน์ของโพรไบโอติกในโรคและสภาวะที่มีความซับซ้อนมากขึ้น 1-3

รวมประโยชน์โพรไบโอติก-รวมประโยชน์โปรไบโอติก

ประโยชน์ของจุลินทรีย์ โพรไบโอติก แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส เอ็นซีเอฟเอ็ม (Lactobacillus acidophilus NCFM)4,5

เนื่องจากมีเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิดถูกจัดเป็นโพรไบโอติก ดังนั้นการพิจารณาเลือกใช้โพรไบโอติกมีความจำเป็นต้องเลือกสายพันธุ์ที่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนประสิทธิภาพที่เพียงพอเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรับประทานโพรไบโอติก จุลินทรีย์ L. acidophilus สายพันธุ์ NCFM เป็นจุลินทรีย์ที่มีข้อมูลการศึกษาทางคลินิกสนับสนุนประสิทธิภาพและความปลอดภัยในข้อบ่งใช้ที่หลากหลายโดยเฉพาะผลดีต่อระบบทางเดินอาหารและเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปัจจุบันพบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการรับประทาน L. acidophilus NCFM สามารถปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในระบบทางเดินอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยและการดูดซึมสารอาหารในระบบทางเดินอาหาร ทั้งยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคและกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ 2,4-6

โพรไบโอติก สายพันธุ์ Lactobacillus acidophilus NCFM

กระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

พบข้อมูลการศึกษาที่แสดงประสิทธิภาพของการรับประทานจุลินทรีย์ L. acidophilus ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายชนิดที่ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อม (IgA) และชนิดที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู่กับเชื้อโรคใหม่ (IgM) ในผู้ที่ได้รับจุลินทรีย์ L. acidophilus NCFM เป็นประจำสม่ำเสมอโพรไบโอติกชนิดนี้จึงช่วยส่งเสริมกระบวนการทำงานและการตอบสนองของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสและลดความรุนแรงในการเกิดอาการแพ้ โรคภูมิแพ้ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไปได้3,7

ป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคระบบทางเดินอาหาร

มีข้อสันนิษฐานว่าจุลินทรีย์ L. acidophilus NCFM ออกฤทธิ์ต้านกระบวนการอักเสบและสามารถผลิตสารแบคเทอริโอซินที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรคชนิดอื่นในระบบทางเดินอาหาร พบข้อมูลการศึกษาของจุลินทรีย์ L. acidophilus NCFM ที่เกี่ยวข้องกับกลไกการป้องกันและลดความรุนแรงอาการต่าง ๆ ในโรคระบบทางเดินอาหาร จากความสามารถในการเพิ่มการแสดงออกของตัวรับที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดในเยื่อบุลำไส้ รวมถึงช่วยลดจำนวนครั้งของการเคลื่อนไหวของลำไส้ จึงสามารถรับประทานโพรไบโอติกชนิดนี้เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องและบรรเทาอาการท้องอืดในผู้ป่วยที่มีการทำงานความผิดปกติของลำไส้และมีอาการลำไส้แปรปรวน ปัจจุบันมีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนการใช้โพรไบโอติก L. acidophilus NCFM ผสมผสานกับโพรไบโอติกชนิดอื่น รวมถึงคำแนะนำในการใช้โพรไบโอติกร่วมกับการรักษามาตรฐานของผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับโรคทางระบบทางเดินอาหารซึ่งจะเป็นส่วนเสริมสำคัญในการรักษา4,5,7-9

คำแนะนำขององค์การโรคระบบทางเดินอาหารโลก (World Gastroenterology Organisation; WGO) ปี 2023 ระบุว่า L. acidophilus NCFM สามารถช่วยปรับปรุงอาการท้องผูกที่ไม่ทราบสาเหตุ อาการท้องเสียที่สัมพันธ์กับการใช้ยาปฏิชีวนะ โรคลำไส้แปรปรวน และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันให้ดีขึ้นได้ L. acidophilus NCFM ยังช่วยป้องกันอาการท้องร่วงจากเชื้อ Clostridium difficile และป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ตัวอย่างการใช้โพรไบโอติกในโรคระบบทางเดินอาหารตามคำแนะนำขององค์การโรคระบบทางเดินอาหารโลก (WGO)

ประโยชน์โพรไบโอติก-ช่วยรักษาโรค

ข้อมูลวิชาการสนับสนุนประโยชน์ของการใช้จุลินทรีย์ โพรไบโอติก ชนิด Lactobacillus acidophilus สายพันธุ์ NCFM กระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

Paineau D และคณะ ทำการศึกษาเพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกาย หลังจากรับประทานจุลินทรีย์ Probiotics ทั้งหมด 7 ชนิดรวมถึง L. acidophilus NCFM วันละ 2 ครั้งต่อเนื่องเป็นเวลานาน 4 สัปดาห์ ประเมินประสิทธิภาพโดยการตรวจวัดระดับของภูมิคุ้มกันที่ร่างกายหลั่งออกมาจากเลือดและน้ำลายหลังจากให้กลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-65 ปี ที่มีสุขภาพดี ได้รับวัคซีนชนิดรับประทานในสัปดาห์ที่ 1 และ 2 ผลการศึกษาพบว่าโพรไบโอติกที่ทำการศึกษาหลายชนิดมีอิทธิพลต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สำหรับการรับประทานจุลินทรีย์ Probiotics ชนิด
L. acidophilus NCFM อย่างต่อเนื่องพบว่าทำให้ระดับของภูมิคุ้มกันที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อม (IgA) และระดับของภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู่กับเชื้อโรค (IgM) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจึงกล่าวได้ว่าการรับประทานโพรไบโอติกอย่างสม่ำเสมอสามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายได้7

การบรรเทาอาการปวดท้องเรื้อรังที่ไม่มีสาเหตุ

ข้อมูลจากการศึกษาทางคลินิกเพื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์และประเมินประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ Probiotics ชนิด L. acidophilus NCFM ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเล็กน้อยถึงปานกลางที่ได้รับ L. acidophilus NCFM รับประทานวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ประเมินประสิทธิภาพโดยการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อดูการแสดงออกของยีนส์ของตัวรับ (receptor) ที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด ผลการศึกษาพบว่าการรับประทานจุลินทรีย์ Probiotics ชนิด L. acidophilus NCFM สามารถเพิ่มการแสดงออกของตัวรับที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดในเยื่อบุลำไส้ (mu-opioid receptor; MOR และ cannabinoid receptor 2; CB2) และสามารถลดจำนวนครั้งของการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าการรับประทาน L. acidophilus NCFM อย่างสม่ำเสมอช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องอืด ลดระดับความรุนแรงของอาการปวดท้องเรื้อรังที่ไม่มีสาเหตุ และลดจำนวนวันที่ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องลงได้8

บรรเทาอาการท้องอืดในผู้ป่วยที่มีการทำงานความผิดปกติของลำไส้ และอาการลำไส้แปรปรวน (IBS)

Paineau D และคณะทำการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ L. acidophilus NCFM ในผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome หรือ IBS) อาการท้องเสียและท้องอืดไม่ทราบสาเหตุ โดยให้รับประทาน L. acidophilus NCFM วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ทำการติดตามผลการรักษาและเก็บข้อมูลจากการสอบถามอาการของผู้ป่วยโดยแบ่งระดับของอาการทางลำไส้ที่ดีขึ้นเป็น 7 ระดับ (1 = ดีขึ้นมาก, 7 = แย่ลงมาก) รวมถึงผลการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของลำไส้ อาการปวดท้อง ท้องอืด อาการไม่สบายท้องหลังรับประทานอาหารที่ดีขึ้น ผลการศึกษาพบว่าอาการท้องอืดในผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคลำไส้แปรปรวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่สัปดาห์ที่ 4 (คะแนน 4.10 ± 3) และลดลงต่อเนื่องไปจนถึงสัปดาห์ที่ 8 รวมถึงอาการทางลำไส้อื่น ๆ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพบว่าดีขึ้นหลังจากรับประทาน L. acidophilus NCFM ยาวนานที่ 8 สัปดาห์9 ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของ Lyra A และคณะที่พบว่าเมื่อให้ผู้ป่วยรับประทานจุลินทรีย์ L. acidophilus NCFM อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 12 สัปดาห์ คะแนนความรุนแรงของการเกิดอาการลำไส้แปรปรวนลดลง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องระดับปานกลางถึงรุนแรง หลังรับประทานโพรไบโอติกอาการปวดได้ทุเลาลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หลังจบการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีคะแนนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น5

โพรไบโอติกรักษาโรคทางเดินอาหาร-รักษามะเร็งกระเพาะ

แนวทางการเลือกใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติก 2

  1. ค้นหาและระบุความต้องการหรือปัญหาสุขภาพของตนเอง
  2. เลือกผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกชนิดและสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการและช่วยแก้ปัญหาสุขภาพได้
  3. เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
  4. เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณจุลินทรีย์เพียงพอ และรับประทานตามขนาดที่ผลิตภัณฑ์แนะนำ (อย่างน้อย 5×109 CFU/วัน)
  5. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ราคาสมเหตุผล สามารถรับประทานได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีระดับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์คงอยู่เพียงพอ
  6. เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้องตามที่ผู้ผลิตกำหนด เพื่อป้องกันจุลินทรีย์เสื่อมสภาพโดยเฉพาะการเก็บในที่อุณหภูมิสูง

โพรไบโอติกยี่ห้อไหนดี

เอกสารอ้างอิง

  1. Bodke H, Jogdand S. Role of Probiotics in Human Health. Cureus. Nov 2022;14(11):e31313. doi:10.7759/cureus.31313
  2. กิติยศ ยศสมบัติ . Clinical case in community pharmacy: probiotics. วารสารสมาคมเภสัชกรรมชุมชน. 2020;19(110):8-12. 
  3. Yadav MK, Kumari I, Singh B, Sharma KK, Tiwari SK. Probiotics, prebiotics and synbiotics: Safe options for next-generation therapeutics. Appl Microbiol Biotechnol. Jan 2022;106(2):505-521. doi:10.1007/s00253-021-11646-8
  4. Sadrin S, Sennoune SR, Gout B, et al. Lactobacillus acidophilus versus placebo in the symptomatic treatment of irritable bowel syndrome: the LAPIBSS randomized trial. Cell Mol Biol (Noisy-le-grand). Sep 30 2017;63(9):122-131. doi:10.14715/cmb/2017.63.9.21
  5. Lyra A, Hillilä M, Huttunen T, et al. Irritable bowel syndrome symptom severity improves equally with probiotic and placebo. World J Gastroenterol. Dec 28 2016;22(48):10631-10642. doi:10.3748/wjg.v22.i48.10631
  6. Zawistowska-Rojek A, Tyski S. Are Probiotic Really Safe for Humans? Pol J Microbiol. 2018;67(3):251-258. doi:10.21307/pjm-2018-044
  7. Paineau D, Carcano D, Leyer G, et al. Effects of seven potential probiotic strains on specific immune responses in healthy adults: a double-blind, randomized, controlled trial. FEMS Immunol Med Microbiol. Jun 2008;53(1):107-13. doi:10.1111/j.1574-695X.2008.00413.x
  8. Ringel-Kulka T, Goldsmith JR, Carroll IM, et al. Lactobacillus acidophilus NCFM affects colonic mucosal opioid receptor expression in patients with functional abdominal pain – a randomised clinical study. Aliment Pharmacol Ther. Jul 2014;40(2):200-7. doi:10.1111/apt.12800
  9. Ringel-Kulka T, Palsson OS, Maier D, et al. Probiotic bacteria Lactobacillus acidophilus NCFM and Bifidobacterium lactis Bi-07 versus placebo for the symptoms of bloating in patients with functional bowel disorders: a double-blind study. J Clin Gastroenterol. Jul 2011;45(6):518-25. doi:10.1097/MCG.0b013e31820ca4d6

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โพรไบโอติก

  1. รู้จักกับโพรไบโอติกส์จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ https://www.zenbiohealth.com/th/โพรไบโอติก-คือ/
  2. โพรไบโอติกส์กับการเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน https://www.zenbiohealth.com/th/สร้างภูมิคุ้มกัน/
  3. รู้จักกับจุลินทรีย์ชนิดดี B. lactis HN019 และประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันและทางเดินอาหาร https://www.zenbiohealth.com/บิฟิโดแบคทีเรียม-แล็กทิส/

โพรไบโอติก ยี่ห้อ ไหนดี, อาหารเสริม, ทาน แล้ว เห็นผล, โพรไบโอติกดีที่สุด, best probiotic, อาหารเสริมโพรไบโอติก, เลือกยี่ห้อไหนดี, ยี่ห้อไหนดีสุด, Zenbio, พรีไบโอติก, ซินไบโอติก, อาหารเสริมธรรมชาติ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เซนไบโอจัดแสดงสินค้าที่ สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

22 มกราคม 2024

  |  

ข่าวสาร , กิจกรรม

เซนไบโอ ได้แนะนำ ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ Zenbio ProBL8 ที่สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรุงเทพฯ

เจาะลึกโรคซึมเศร้าและประโยชน์ไซโคไบโอติก (Psychobiotics)

11 มกราคม 2024

  |  

เคล็ดลับ ดูแลสุขภาพ

ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าแต่ละประเภท สาเหตุ และอันตรายของโรค พร้อมแนะนำวิธีดูแลสภาพจิตใจพื้นฐานกับไซโคไบโอติก โพรไบโอติกช่วยโรคซึมเศร้า

โพรไบโอติกกับโรคเครียดและอาการนอนไม่หลับ

27 ธันวาคม 2023

  |  

เคล็ดลับ ดูแลสุขภาพ

ทำความรู้จักกับโรคเครียดและอาการนอนไม่หลับ สาเหตุ และอันตรายของโรค พร้อมแนะนำวิธีดูแลสภาพจิตใจพื้นฐานกับโพรไบโอติกช่วยปรับอารมณ์ ลดความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

8 อาหารที่ควรเลี่ยง เสี่ยงตกขาว

27 ธันวาคม 2023

  |  

ความรู้อาหาร และโภชนาการ

การมีตกขาวนับเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้หญิง ที่มักจะเกิดขึ้นในทุกๆ เดือน ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างช่วงรอบประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาการตกขาวอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เรากำลังมีปัญหาสุขภาพช่องคลอดก็เป็นได้

รวม 5 วิธีลดน้ำหนักง่ายๆ ด้วยการคุมอาหาร

19 ธันวาคม 2023

  |  

ความรู้อาหาร และโภชนาการ

มาสำรวจวิธีการลดน้ำหนักผ่านการควบคุมการรับประทานอาหารรูปแบบต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมรู้จักกับโพรไบโอติกลดน้ำหนัก

ซึมเศร้าอาการซ่อนเร้น…เอ๊ะ เราเป็นหรือเปล่า

29 พฤศจิกายน 2023

  |  

เคล็ดลับ ดูแลสุขภาพ

Zenbio พามาทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าซ่อนเร้นที่หลายคนอาจยังไม่เคยทราบแตกต่างจากโรคซึมเศร้าอย่างไร พร้อมหาคำตอบกันว่าโพรไบโอติกช่วยลดซึมเศร้าได้จริงหรือไม่