โพรไบโอติกส์
กับการเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน

โพรไบโอติกส์ กับการเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน

23 กรกฎาคม 2023

บทความโดย ผศ.ภญ.ศยามล สุขขา

ระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ คอยปกป้องร่างกาย

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเปรียบเสมือนทหารประจำตัวที่คอยปกป้องร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอม และการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งทหารประจำตัวนี้จะประกอบไปด้วยอวัยวะ เซลล์ โปรตีน ทำงานประสานกันเพื่อให้เกิดการทำหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์ หากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมีความผิดปกติไปแล้ว อาจนำมาสู่อาการแพ้ ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย และเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และการอักเสบหลายชนิด

ระบบภูมิคุ้มกันในทางเดินอาหาร

อวัยวะในทางเดินอาหารนี้เป็นระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของร่างกาย เนื่องจากทางเดินอาหารเป็นที่อยู่หลักของเซลล์เม็ดเลือดขาว และยังสามารถสร้างสารออกมาปกป้องเมื่อร่างกายถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค อีกทั้งยังปกป้องร่างกายเมื่อมีการอักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ในทางเดินอาหารยังประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้สมบูรณ์ โดยจุลินทรีย์ชนิดดีนี้จะเป็นแหล่งให้อาหารแก่ร่างกายเช่น กรดไขมันชนิดสายสั้น วิตามิน กรดอะมิโนจำเป็นอีกหลายชนิด ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายโปรตีน หรือน้ำตาลที่โดยปกติแล้วไม่สามารถย่อยสลายได้ในลำไส้ อีกทั้งจุลินทรีย์ชนิดดีเหล่านี้ยังคอยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อมในทางเดินอาหารให้มีการทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรค หรืออาการต่างๆ ในระบบทางเดินอาหารที่ทอาจเกิดได้บ่อย เช่น มีแก๊สในทางเดินอาหาร ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

นอกจากนี้ในทางเดินอาหารยังมีแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ที่พบตามธรรมชาติ ทำหน้าที่ช่วยจุลินทรีย์ชนิดดีในการเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และต่อต้านจุลินทรีย์ชนิดก่อโรคไม่ให้เข้ามาในทางเดินอาหารได้ แบคทีเรียโพรไบโอติกส์ตามธรรมชาติที่พบส่วนมากจะเป็นจุลินทรีย์ชนิดแกรมบวก ตัวอย่างเช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium ซึ่งพบรายงานว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย

สร้างภูมิคุ้มกัน-โพรไบโอติกส์-โปรไบโอติก-ลดไข้-ป้องกันหวัด
Probiotic article-health-articles-probiotics article

โพรไบโอติกส์ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันอย่างไร?

ไขข้อเท็จจริง อธิบายการทำงานโพรไบโอติกส์

เซลล์เม็ดเลือดขาว

หน้าที่หลักคือ ป้องกันเชื้อโรคสิ่งแปลกปลอม และปกป้องร่างกายเมื่อมีการอักเสบ

โพรไบโอติกส์

  • ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้สมบูรณ์
  • เป็นแหล่งผลิตอาหารให้แก่ร่างกาย เช่น วิตามิน และกรดอะมิโนจำเป็น
  • ต่อต้านจุลินทรีย์ชนิดก่อโรคไม่ให้เข้ามาในทางเดินอาหาร
  • ปรับสมดุลทางเดินอาหารให้ทำงานเป็นปกติ

โพรไบโอติกส์ช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวป้องกันเชื้อโรคได้ดีขึ้น

ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ กับผลในการ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

“ ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์คือผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์มีชีวิต ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อได้รับในปริมาณที่เหมาะสม “

ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่เป็นโพรไบโอติกส์มีด้วยกันหลายชนิด ข้อแตกต่างของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ได้แก่ ชนิดของสายพันธุ์จุลินทรีย์ ปริมาณของสายพันธุ์จุลินทรีย์แต่ละชนิด ซึ่งข้อแตกต่างนี้มีความสำคัญเนื่องจากประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการนำมาใช้ในโรคต่างๆ นั้นจะเป็นผลจากสายพันธุ์ที่เฉพาะ รวมถึงต้องได้รับในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำ (ปริมาณไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป)

เชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์นั้นจะถูกเรียกชื่อตามจีนัส สปีชีส์ และสายพันธุ์เฉพาะ ตัวอย่างเช่น Bifidobacterium Lactis HN019 โดยที่ Bifidobacterium คือจีนัส Lactis คือสปีชีส์ และ HN019 คือสายพันธุ์เฉพาะ (Specific Strain)

Genus

Bifidobacterium

Species

lactis

Strain

HN019

“ ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ จะสามารถออกฤทธิ์ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ในหลายบริเวณ ซึ่งไม่เหมือนกับแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ที่พบตามธรรมชาติซึ่งจะออกฤทธิ์หลักที่ระบบทางเดินอาหาร “

ปัจจุบันพบข้อมูลการศึกษาถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ในโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และการอักเสบหลายชนิด ได้แก่ อาการแพ้ ท้องเสีย ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ลำไส้แปรปรวน การติดเชื้อ รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์เพื่อทดแทนจุลินทรีย์ชนิดดี ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาฆ่าเชื้อชนิดออกฤทธิ์กว้าง ซึ่งจะไปทำลายเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีประจำถิ่นในลำไส้อีกด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์นั้นมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกายได้
  • ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์แต่ละชนิดมีความแตกต่างทางด้านสายพันธุ์ของเชื้อจุลินทรีย์ (Strain) และปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์แต่ละชนิด ซึ่งประโยชน์จากผลิตภัณฑ์โพรไบติกส์นั้นจะเป็นคุณสมบัติเฉพาะของสายพันธุ์ของเชื้อจุลินทรีย์แต่ละชนิดโดยทั้งสายพันธุ์ของเชื้อจุลินทรีย์และปริมาณเชื้อควรต้องเป็นไปตามคำแนะนำซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลการศึกษาทางคลินิก
  • นอกจากผู้บริโภคควรมองหาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ที่มีการระบุสายพันธุ์ของเชื้อจุลินทรีย์ (Strain) แล้ว ควรมีการระบุจำนวนเชื้อเป็น CFU (ตัว) ซึ่งจะเป็นการบอกปริมาณเชื้อเฉพาะจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ที่เป็นตัวบ่งบอกปริมาณเชื้อที่เหมาะสมมากกว่าการระบุเป็นน้ำหนักรวมของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์
  • นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ควรระบุวันหมดอายุให้ชัดเจน
  • ระบุวิธีการเก็บรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์บางชนิดนั้นต้องเก็บไว้ในที่เย็น และบางชนิดสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องได้
  • อีกทั้งผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ควรมีการระบุส่วนประกอบนอกเหนือจากเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการแพ้ส่วนประกอบบางชนิดในผลิตภัณฑ์ เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักคุ้นชินและเคยได้รับอาหารที่มีโพรไบโอติกส์อยู่แล้ว ดังนั้นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์จึงทำให้เกิดอาการข้างเคียงค่อนข้างน้อยในคนปกติ โดยอาจพบการเกิดแก๊สในทางเดินอาหารได้บ้างหลังการใช้ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันลดลงหรือมีภาวะเจ็บป่วยที่รุนแรงควรระวังการใช้ หรือใช้ตามที่แพทย์/เภสัชกรแนะนำเท่านั้น เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ในโพรไบโอติกส์อาจเป็นอันตรายในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันลดลงได้

ข้อสรุป

ข้อมูลปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยปรับสมดุลการทำงานของลำไส้ เสริมสร้างการทำงานของจุลินทรีย์ชนิดดี และปกป้องจุลินทรีย์ชนิดก่อโรค โดยข้อมูลประโยชน์ของการใช้ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์นั้นจะขึ้นกับชนิดของสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีการศึกษารองรับ และปริมาณของจุลินทรีย์ที่เหมาะสมต่อประโยชน์ของการใช้ในภาวะต่าง ๆ อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Mazziotta C, Tognon M, Martini F, Torreggiani E, Rotondo JC. Probiotics mechanism of action on immune cells and beneficial effects on human health. Cells. 2023 Jan 2;12(1):184.
  2. World Gastroenterology Organization (WGO): Global guidelines on probiotics and prebiotics. February, 2017.
  3. National Institutes of Health. Probiotics fact sheet for consumers. [cited March 30, 2023]. Available from: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Probiotics-Consumer/.

Related Articles

เซนไบโอจัดแสดงสินค้าที่ สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

22 มกราคม 2024

  |  

ข่าวสาร , กิจกรรม

เซนไบโอ ได้แนะนำ ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ Zenbio ProBL8 ที่สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กรุงเทพฯ

เจาะลึกโรคซึมเศร้าและประโยชน์ไซโคไบโอติก (Psychobiotics)

11 มกราคม 2024

  |  

เคล็ดลับ ดูแลสุขภาพ

ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าแต่ละประเภท สาเหตุ และอันตรายของโรค พร้อมแนะนำวิธีดูแลสภาพจิตใจพื้นฐานกับไซโคไบโอติก โพรไบโอติกช่วยโรคซึมเศร้า

โพรไบโอติกกับโรคเครียดและอาการนอนไม่หลับ

27 ธันวาคม 2023

  |  

เคล็ดลับ ดูแลสุขภาพ

ทำความรู้จักกับโรคเครียดและอาการนอนไม่หลับ สาเหตุ และอันตรายของโรค พร้อมแนะนำวิธีดูแลสภาพจิตใจพื้นฐานกับโพรไบโอติกช่วยปรับอารมณ์ ลดความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น