บางคนอาจรู้สึกแน่นท้อง อึดอัด จุกเสียดบ่อยๆ หลังทานข้าวกลางวันหรือทานบุฟเฟ่ต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการท้องอืด ท้องเฟ้อที่สามารถหายเองได้ เพียงแค่เรอหรือผายลม แต่อาการเหล่านี้อาจไปรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน สร้างความกังวลใจ หรือทำให้เสียบุคลิกภาพได้ นอกจากนี้ หากเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยครั้งร่วมกับอาการอื่นๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร, กระเพาะอาหารอักเสบ, โรคกรดไหลย้อน หรือโรคร้ายแรงอย่าง มะเร็งกระเพาะอาหารได้ [11]
ดังนั้น Zenbio ขอพาทุกคนมารู้จักกับอาการท้องอืด ท้องเฟ้อว่ามีอาการอย่างไร สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ และหากเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อเรื้อรัง เราจะมีวิธีการปรับพฤติกรรมอย่างไรเพื่อสุขภาพที่ดี
ท้องอืด ท้องเฟ้อ คือ?
ท้องอืด ท้องเฟ้อ คือ อาการที่รู้สึกว่ามีแก๊สในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ทำให้รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง ไม่สบายตัว หรือมีอาการจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ บางครั้งอาจมีภาวะท้องโต ได้ยินเสียงโครกคราก ปั่นป่วนภายในท้อง และ/หรือมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นเมื่อได้เรอ หรือผายลม
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อมักเกิดจากภาวะอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia[1]) หรือเป็นผลมาจากอาหารเป็นพิษจนทำให้มีลมในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาการท้องอืดท้องเฟ้อมักพบบ่อยมากถึง 25% ของคนทั่วไป และสามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย แต่มักพบบ่อยในช่วงอายุ 30 – 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากระบบย่อยอาหารทำงานถอยลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรมการทานอาหาร การใช้ชีวิต รวมไปจนถึงการบ่งบอกโรคร้ายที่แฝงอยู่
- การทานอาหารที่มีไขมันสูงในปริมาณมาก ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวช้าและใช้เวลานานในการย่อย หรือการทานผักหรือธัญพืชที่มีไฟเบอร์ในปริมาณมากเกินไปจนเกิดแก๊สขึ้น นอกจากนี้ ในคนแพ้นมวัว (Lactose intolerance) ที่เซลล์เยื่อบุลำไส้เล็กสร้างเอนไซม์แลกเทสน้อยลงหรือไม่สร้าง เรียกว่าภาวะขาดเอนไซม์แลกเทส[2] จนเกิดอาการท้องอืด มีลมในท้อง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีการอัดแก๊ส เช่น น้ำอัดลม โซดา เบียร์ ทำให้มีลมในท้องมากขึ้น
- พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น การทานอาหารเร็วๆ เคี้ยวไม่ละเอียด การทานอาหารผิดเวลา รวมถึงการพูดคุยระหว่างมื้ออาหาร
- การเคี้ยวหมากฝรั่ง การสูบบุหรี่ เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เนื่องจากมีการกลืนอากาศเข้าสู่ช่องท้อง ทำให้เกิดเป็นการเพิ่มปริมาณอากาศเข้าสู่ช่องท้อง ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้
- การไม่ขยับตัวหลังทานอาหารเสร็จ เช่น นั่งเฉยๆ เป็นเวลานาน ไม่ลุกขึ้นเดิน ทำให้กระเพาะและลำไส้เคลื่อนไหวน้อย ส่งผลให้อาหารถูกย่อยช้า ลมในกระเพาะเพิ่มมากขึ้น
- เมื่ออายุเพิ่มขึ้น การทำงานของระบบย่อยอาหารก็เสื่อมถอยลง กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง ทำให้มีอาหารคงค้างเหลือในกระเพาะมากกว่าเดิม
- ความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ทั้งจากกระเพาะอาหาร ลำไส้ น้ำย่อยจากลำไส้ ตับ หรือตับอ่อนทำงานได้น้อยลง ปริมาณแบคทีเรียภายในระบบลำไส้ไม่สมดุล รวมถึงการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ หรือมีเนื้องอกภายในกระเพาะอาหาร
- อาการท้องผูก ไม่ถ่ายท้อง ทำให้ความดันภายในทางเดินอาหารสูงขึ้น จนมีอาการปวดท้อง
- อาการข้างเคียงของคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ลำไส้อุดตัน โรคลำไส้แปรปรวน โรคตับ หรือผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการผ่าตัดหน้าท้อง
- การรับประทานยาบางประเภท เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด และยาปฏิชีวนะ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินอาหารได้
กล่าวได้ว่า อาการท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง แม้ไม่ได้เป็นอาการที่ร้ายแรง แต่ถ้าเป็นในระยะเวลาที่นานเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลดลงเร็ว รวมถึงการขับถ่ายผิดปกติ จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยอาการโดยละเอียด เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารอักเสบ พยาธิในทางเดินอาหาร โรคกรดไหลย้อน[8] โรคนิ่วในถุงน้ำดี[4] ไปจนถึงโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งลำไส้[11] และมะเร็งกระเพาะอาหารได้
ไม่อยากท้องอืด ท้องเฟ้อ แค่เปลี่ยนพฤติกรรม [4] [7–[11]
ใครที่ไม่อยากจะท้องอืด ท้องเฟ้อแล้ว เพียงแค่ปรับพฤติกรรมก็สามารถป้องกันได้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สหรือกรด เช่น อาหารไขมันสูง อาหารรสจัด อาหารย่อยยาก น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ กาแฟ รวมถึงอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
- เลือกรับประทานอาหารที่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด เช่น ขิงช่วยขับลม สะระแหน่ช่วยลดการหดเกร็งของระบบย่อยอาหาร สับปะรดมีเอนไซม์ช่วยย่อยโปรตีนได้ ลดภาวะอาหารไม่ย่อย ลูกพรุนช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ รวมถึงอาหารที่มีโพรไบโอติกสูงอย่างโยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติกที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่ช่วยย่อยอาหาร
- ระหว่างรับประทานอาหาร ควรเคี้ยวให้ละเอียด ไม่รีบทาน ไม่ทานในปริมาณมากเกินไป ลดการพูดคุยระหว่างมื้ออาหาร
- หลังทานเสร็จ ไม่ควรล้มตัวนอนทันทีหรือท่าก้มงอตัว และควรเดินย่อยอาหารเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร
- เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่พอดีหรือรัดแน่นเกินไป เพราะการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจะทำให้เกิดความดันภายในช่องท้องจนทำให้ท้องอืด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะจะเป็นการเพิ่มปริมาณอากาศเข้าสู่ช่องท้อง จนเป็นสาเหตุของท้องอืดได้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้
- ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ลดอาการท้องผูกจนเกิดอาการท้องเฟ้อ
สรุปได้ว่า อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ภาวะอาหารไม่ย่อย เป็นอาการที่สามารถเกิดได้บ่อยครั้งจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งเราสามารถป้องกันได้จากการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์และสามารถเสริมได้ด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร, การดูดซึมอาหาร และปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร[10]
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติก
www.zenbiohealth.com/th/pro-bl8-th-โพรไบโอติก/